วันอังคารที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

การปลูกผลไม้ต่างๆ

การปลูกผลไม้ต่างๆ
 


ผลไม้ในฤดูกาลก็มีให้รับประทานอยู่แล้วมากมาย แต่ความต้องการของมนุษย์นั้นมีไม่สิ้นสุดจึงเกิดมีมนุษย์ที่มีความต้องการผลไม้นอกฤดูและขณะเดียวกันผลไม้นอกฤดูก็มีราคาสูง จึงเป็นที่ต้องการของเกษตรกรที่จะทำให้มีผลไม้ออกมาจำหน่ายนอกฤดูกาลมากขึ้น จึงมีงานวิจัยที่อาศัยความรู้ทางวิชาการด้านต่างๆ มาประยุกต์ใช้ให้ไม้ผลมีการออกดอกติดผลนอกฤดูกาลกันมากขึ้นจนเป็นที่ยอมรับของเกษตรกร ทั่วไป แนวทางการผลิตผลไม้นอกฤดูมีวิธีการต่างๆ หลายวิธีดังนี้
  1. ใช้พันธุ์ที่ออกดอกนอกฤดูอยู่แล้ว เช่น มะม่วงพันธุ์ทะวายต่างๆ น้ำดอกไม้ทะวาย พิมเสนมันทะวาย โชคอนันต์ เป็นต้น
  2. เลือกช่วงเวลาการปลูกให้ไม่ตรงกับคนอื่น ใช้กับไม้ผลที่มีอายุสั้นเมื่อถึงอายุก็ออกดอกติดผล เช่น กล้วย มะละกอ ปกติต้องอาศัยน้ำฝนจะปลูกต้นฤดูฝน หากมีน้ำชลประทานควรเลือกปลูกช่วงปลายฤดูฝนหรือฤดูแล้งจะทำให้มีผลผลิตจำหน่ายไม่ตรงกับเขตอื่น
  3. ใช้การตัดแต่งกิ่ง ทำกับไม้ผลที่เมื่อแตกกิ่งใหม่จะมีช่อดอกออกมาด้วย เช่น น้อยหน่า ฝรั่ง องุ่น เป็นต้น
  4. ใช้ปุ๋ยเคมี N.D.Bondad it af 1978 รายงานว่าโปแตสเซียมไนเตรทอัตราความเข้มข้น 1-4 เปอร์เซ็นต์ ทำให้มะม่วงพันธุ์คาราบาวแทงช่อดอกนอกฤดูกาลได้
  5. การใช้สารชะลอการเจริญเติบโต เช่น พาโคลบิวทราโซล ใช้กับมะม่วงโดยฉีดพ่นทางใบ
    อัตรา 1,000-2,000 ppm. ทำให้มะม่วงออกดอกก่อนกำหนด 35 วัน ในปัจจุบันนิยมราดทางดินชิดโคนต้นระยะเหมาะสมของต้นที่จะใช้ต้องมีใบสีเขียวอ่อน ปริมาณสารต่อต้นเท่ากับความกว้างทรงพุ่มเป็นเมตรคูณด้วยค่าคงที่ของพันธุ์ คือ พันธุ์ออกง่ายให้ค่าคงที่เท่ากับ 10 ได้แก่ มะม่วงน้ำดอกไม้ ฟ้าลั่น ทองดำ หนองแซง เจ้าคุณทิพย์ แก้วลืมรัง ลิ้นงูเห่า โชคอนันต์ ส่วนพันธุ์ที่ออกยากให้ค่าคงที่ของพันธุ์ออกยาก เท่ากับ 15 ได้แก่ มะม่วงพันธุ์เขียวเสวย หนังกลางวัน อกร่อง แรด และพิมเสนมัน
การวางแผนการขายน้อยหน่าโดยการตัดแต่งกิ่ง
ตัวอย่างเช่น ปริมาณสารต่อต้นของมะม่วงพันธุ์เขียวเสวย ขนาดพุ่มต้น 4 เมตร
= ก x พ
= 4 x 15
= 60 ซีซี.คัลทาร์ 10%
= 60 กรัมพรีดิกซ์ 10%
ปริมาณสารต่อต้นในมะม่วงน้ำดอกไม้พุ่มต้น 4 เมตร
= ก x พ
= 4 x 10
= 40 ซีซี.คัลทาร์ 10%
= 40 กรัมพรีดิกซ์ 10%
เมื่อคำนวณสารต่อต้นได้แล้วเอาสารละลายในน้ำ 2 ลิตร คนให้เข้ากัน ราดชิดโคนต้น เมื่อราดสารแล้วให้รดน้ำแก่ดิน บริเวณพุ่มต้นไม้ให้ชุ่ม ระดับ 10-15 เซนติเมตร ทุก 5 วัน อีก 4-5 ครั้ง เพื่อให้สารขึ้นไปที่ยอด ระยะเวลาเกิดตาดอก พันธุ์ออกง่าย 60-70 วัน พันธุ์ออกยาก 90-120 วัน การใส่ในช่วงฤดูฝน บางครั้งตาดอกอาจเกิดเป็นตาใบได้ ควรป้องกันโดยในพันธุ์ออกง่ายเมื่อใส่สารพาโคลบิวทราโซลได้ 1 เดือน ควรพ่นปุ๋ย 0-52-34 (โมโนโปแตสเซี่ยมฟอสเฟต) อัตรา 150 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร 2 ครั้ง ห่างกัน 10 -14 วัน พันธุ์ออกยากควรพ่นเมื่อใส่สารพาโคลบิวทราโซลได้ 2 เดือน เมื่อครบกำหนดเกิดตาดอกที่ยอดใช้โปแตสเซี่ยมไนเตรท 500 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือไธโอยูเรีย 100 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นให้ตาดอกเจริญเป็นช่อออกมา และดูแลรักษาให้ติดผลและเก็บเกี่ยวได้ต่อไป
ตารางแนวทางการใช้สารพาโคลบิวทราโซลเพื่อการผลิตนอกฤดูสำหรับมะม่วงพันธุ์ออกง่าย
ตารางแนวทางการใช้สารพาโคลบิวทราโซลเพื่อการผลิตนอกฤดูสำหรับมะม่วงพันธุ์ที่ออกยาก
หมายเหตุ
1.ใช้สารคัลทาร์ให้เกิดตาดอก
2.ใช้โปแตสเซียมไนเตรท 2.5 เปอร์เซ็นต์ หรือไธโอยูเรีย 0.5 เปอร์เซ็นต์ ให้ช่อดอกเจริญ
3. ดอกบาน
4. เก็บเกี่ยวผล
การทำนอกฤดูต้องหลีกเลี่ยงไม่ให้มีดอกบานในช่วงฝนชุก
หิรัญ หิรัญประดิษฐ์ และคณะ (2542) ได้ทดลองสารพาโคลบิวทราโซลกับทุเรียนและก่อนใช้สารต้องมีการเตรียมความพร้อมของต้นทุเรียนซึ่งมีปฏิบัติดังนี้ การเร่งให้ทุเรียนแตกใบอ่อนด้วยการตัดแต่งกิ่ง เช่น การตัดแต่งกิ่ง กิ่งที่เป็นโรค กิ่งแขนงด้านในพุ่มและกิ่งเล็กๆ ที่อยู่ส่วนปลายกิ่งออก โดยเฉพาะกิ่งที่ชี้ลงหรือกิ่งที่ชี้ตั้งขึ้น เลือกกิ่งที่สมบูรณ์ขนานแนวพื้นไว้ แล้วใส่ปุ๋ยสูตร 15-15-15 หรือ 16-16-16 พร้อมให้น้ำ ทุเรียนจะแตกใบอ่อนให้สมบูรณ์ โดยป้องกันกำจัดโรคและแมลงไม่ให้ใบถูกโรคและแมลงทำลาย
การใช้สารพาโคลบิวทราโซลที่มีความเข้มข้น 1,00-15,000 พีพีเอ็ม (สารชนิด 10% ใช้อัตรา 200-300 ซีซี.ต่อน้ำ 20 ลิตร) ต้นทุเรียนที่พร้อมจะฉีดพ่นใบต้องเป็นใบแก่ สีเขียวเข้มเป็นมัน มีการแตกใบอ่อนหลายชั้นในช่วงที่ผ่านมา การฉีดพ่นควรฉีดพ่นให้ถูกกิ่งอ่อน เป็นตำแหน่งที่สารพาโคลบิวทราโซลจะเข้าสู่พืชได้ดีและสะดวกต่อการเคลื่อนย้ายไปสะสมและทำปฏิกิริยา
การฉีดพ่นต้องปรับหัวฉีดให้เป็นฝอย ฉีดพ่นทั้งภายในและภายนอกทรงพุ่มให้เปียกพอสม่ำเสมอและต้องฉีดพ่นให้เสร็จก่อนฝนตกประมาณ 2 ชั่วโมง
เมื่อทุเรียนดอกบานต้องช่วยผสมเกสรและควบคุมการให้ปุ๋ยให้น้ำให้พอเหมาะ เมื่อผลทุเรียนโตขึ้นจะต้องมีการตัดแต่งผลให้เสร็จภายในสัปดาห์ที่ 4 หลังจากดอกบานโดยตัดแต่งผลที่บิดเบี้ยว มีขนาดเล็ก หรือต่างรุ่นออกให้ผลอยู่ในตำแหน่งที่มีระยะห่างที่พอเหมาะ เมื่อผลโตขึ้นจะได้ไม่เบียดกัน
6. การใช้สารเคมีอื่นๆ เช่น โปแตสเซียมคลอเรต พาวิน มะโนชัย (2542) รายงานว่า
โปแตสเซียมคลอเรทสามารถทำให้ลำไยออกนอกฤดูกาลได้ โดยลำไยอีดอใช้สารดังกล่าว 8 กรัมต่อตารางเมตร สำหรับพันธุ์ชมพูใช้สารดังกล่าวอัตรา 1 กรัมต่อตารางเมตรจะทำให้ออกดอก 100 เปอร์เซ็นต์ โดยลำไยจะต้องได้รับการปฏิบัติดูแลโดยการตัดแต่งกิ่ง ใส่ปุ๋ย ให้น้ำ จนแตกกิ่งใหม่และมีใบแก่อย่างสมบูรณ์ โดยสังเกตจากสายตาว่ามีใบสีเขียวเข้ม แล้วจึงใช้สารโปแตสเซียมคลอเรท ผสมน้ำ 20 ลิตรราดดินบริเวณแนวชายทรงพุ่มแต่ก่อนใส่สารและหลังใส่สารควรรดน้ำให้กับต้นลำไยให้ดินชุ่มอยู่เสมอ
หลังจากบังคับให้ไม้ผลออกดอกได้แล้วต้องดูแลให้ติดผลและผลเจริญเติบโตถึงแก่
เก็บเกี่ยวจึงจะได้ผลไม้นอกฤดูตามที่ต้องการ

มาดูวิธีปลูกผักสวนครัวง่าย ๆ ที่คุณเองก็ทำได้

มาดูวิธีปลูกผักสวนครัวง่าย ๆ ที่คุณเองก็ทำได้

มาดูวิธีปลูกผักสวนครัวง่าย ๆ ที่คุณเองก็ทำได้

เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก วิกิพีเดีย

หากคุณเป็นคนที่มีใจรักในการปลูกต้นไม้ใบหญ้าและเป็นคนมือเย็น ปลูกอะไรก็ขึ้นก็งอกงามแล้วล่ะก็ เราขอแนะนำให้ปลูกผักสวนครัวกินเองเลยค่ะ เพราะบางต้นไม่เพียงนำมาประกอบอาหารได้เท่านั้น แต่ยังมีสรรพคุณทางยาที่ดีมากด้วยนะคะ นอกจากนี้ บางต้นยังเหมาะกับการตกแต่งสวนหลังบ้านของเราด้วยค่ะ ส่วนจะเลือกผักหรือเลือกต้นไม้แบบไหนมาปลูกผักสวนครัวนั้น หลักการเลือกคือต้อง ปลูกง่าย ดูแลง่าย กินง่าย นะคะ ไม่ต้องซับซ้อนมาก เราจะได้มีเวลาดูแลยังไงล่ะคะ และวันนี้เราก็มีตัวเลือกผักสวนครัว พร้อมวิธีการปลูกผักสวนครัวแบบง่าย ๆ มาฝากกันค่ะ จะมีอะไรบ้างนั้นไปดูกันเลยจ้า

มาดูวิธีปลูกผักสวนครัวง่าย ๆ ที่คุณเองก็ทำได้

1. ใบกะเพรา

สรรพคุณ

ใบกะเพราสด นำมาต้มให้เดือดและกรองเอาน้ำดื่ม เป็นยาแก้ขับลม ท้องอืด ท้องเฟ้อ ปวดท้อง บำรุงธาตุ ขับผายลม แก้อาการจุกเสียดในท้อง นอกจากนี้ยังใช้ขับเสมหะ ขับเหงื่อ หรือ ใช้ทาภายนอกแก้โรค ผิวหนัง กลากเกลื้อนได้ สำหรับเมล็ดกะเพรามีสรรพคุณใช้พอกบริเวณตา ทำให้ผง หรือฝุ่น ละอองที่เข้าตาออกมาโดยไม่ทำให้ตาช้ำด้วย ส่วนรากที่แห้งแล้ว นำมาชงหรือต้มกับน้ำร้อนดื่ม แก้โรคธาตุพิการ อย่างไรก็ตาม สรรพคุณสำคัญของใบกะเพรา ที่คนส่วนใหญ่ไม่รู้กันทั้งที่ใช้บริโภคกันอยู่ในชีวิตประจำวัน ก็คือ สรรพคุณขับไขมันและน้ำตาลส่วนเกินออกจากร่างกาย จึงเป็นเหตุผลที่ว่า ตำรับอาหารไทยส่วนใหญ่มักมีใบกะเพราะเป็นส่วนผสมอยู่ด้วยนั่นเองค่ะ

วิธีการปลูก

วิธีการปลูกใบกะเพราก็ไม่ยากเลย เพียงแค่เริ่มจากเตรียมแปลงปลูก ก่อนหว่านเมล็ดลงไป แต่คุณอาจจะเริ่มจากการปักชำก้านที่เหลือจากการซื้อมาทำกับข้าวก็ได้นะคะ พอต้นโตออกดอก เมล็ดที่หล่นก็งอกต้นใหม่อีกหลายต้น หลังเพาะประมาณ 7 - 10 วัน เมล็ดเริ่มงอก พอผ่านไป 15 - 30 วัน จึงเริ่มใส่ปุ๋ยยูเรีย หรือแอมโมเนียมซัลเฟต 1- 2 ช้อนชาต่อน้ำ 10 ลิตร รดทุก 5 - 7 วันได้ สำหรับการรดน้ำ ให้รดน้ำอย่างเพียงพอและสม่ำเสมอทุกวัน หลังปลูกไปประมาณ 30 - 35 วันก็เก็บกินได้แล้วค่ะ ส่วนเคล็ดลับที่จะทำให้ต้นกะเพราเก็บกินใบได้นาน ๆ ก็คือ อย่าให้ออกดอก พอออกดอกแล้วต้นจะโทรม อายุสั้น ถ้าออกดอกก็ให้หมั่นตัดทิ้งเป็นระยะ


มาดูวิธีปลูกผักสวนครัวง่าย ๆ ที่คุณเองก็ทำได้

2. โหระพา

สรรพคุณ

โหระพามีสรรพคุณทางยาสมุนไพรที่หลากหลาย ใบสดของโหระพามีสรรพคุณแก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ ขับลมจากลำไส้ ต้มดื่มแก้ลมวิงเวียน ช่วยย่อยอาหาร แก้หวัด ขับเหงื่อ ถ้าเด็กปวดท้อง ใช้ใบโหระพา 20 ใบ ชงน้ำร้อนและนำมาชงนมให้เด็กดื่มแทนยาขับลมได้ ส่วนเมล็ดแก่ นำมาแช่น้ำตำพอกหรือประคบแก้ไขข้ออักเสบ แผลอักเสบ หรือ ใช้เป็นยาขับปัสสาวะและยาระบายอ่อน ๆ เพื่อแก้อาการท้องผูก โดยนำเมล็ดแก่แช่น้ำให้พองตัวเต็มที่รับประทานกับขนมหวานโดยผสมกับน้ำหวานและน้ำแข็ง นอกจากนี้ นำใบโหระพาแห้งมาบดเป็นผง ใช้รักษาอาการเหงือกอักเสบเป็นหนองได้

วิธีการปลูก

โหระพาเป็นพืชที่ปลูกครั้งเดียวสามารถเก็บเกี่ยวได้ 1 - 2 ปี เริ่มจากการเตรียมดินควรมีความร่วนซุย มีการระบายน้ำดี ต่อมาเริ่มขั้นตอนการปลูกควรทำในเวลาเย็น วิธีการปลูกที่นิยมมี 2 วิธีด้วยกัน คือ การปักชำและการเพาะเมล็ด โหระพาเป็นพืชที่ต้องการความชื้นสูงและสม่ำเสมอ ดังนั้นจึงควรมีการรดน้ำให้ทุกวัน แต่ระวังอย่าปล่อยให้มีการท่วมขังของน้ำในแปลง ในระยะแรกควรทำการพรวนดินและกำจัดพืชทุก ๆ 1 - 2 สัปดาห์ ถ้าจะใส่ปุ๋ยให้ใช้ปุ๋ยแอมโมเนียมซัลเฟต ในอัตรา 10 กิโลกรัมต่อไร่ ละลายน้ำรดหลังปลูกประมาณ 15 - 20 วัน จะทำให้เจริญเติบโตดียิ่งขึ้น หลังจากปลูกประมาณ 30 - 35 วัน สามารถทำการเก็บเกี่ยวได้แล้วค่ะ เช่นเดียวกับใบกะเพราค่ะ อย่าให้ออกดอก ถ้าออกดอกก็ตัดทิ้ง ๆ เรื่อย ๆ นะคะ จะทำให้เก็บกินใบโหระพาได้นาน ๆ ค่ะ


มาดูวิธีปลูกผักสวนครัวง่าย ๆ ที่คุณเองก็ทำได้

3. ผักบุ้ง

สรรพคุณ

สำหรับผักบุ้งที่ทานกันอยู่มี 2 ประเภท คือ ผักบุ้งไทย และ ผักบุ้งจีน ผักบุ้งไทยจะมีสรรพคุณทางยามากกว่าผักบุ้งอื่น แต่สำหรับผักบุ้งจีนจะมีแคลเซี่ยม และเบต้า-แคโรทีน มากกว่า ส่วนที่ใช้ประโยชน์ของผักบุ้งไทยต้นขาวคือ ดอก ใบ ต้น และราก ซึ่งแต่ละส่วนจะให้สรรพคุณแตกต่างกัน

- ดอก ใช้เป็นยาแก้กลากเกลื้อน

- ต้นสด ใช้ดับพิษ รักษาแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก ลดอาการแพ้ อักเสบ บำรุงสายตา บำรุงเลือด บำรุงกระดูกและฟัน ช่วยรักษาโรคเบาหวาน เป็นยาดับร้อน แก้ปัสสาวะเหลือง - ทั้งต้น ใช้แก้โรคประสาท ปวดศรีษะ อ่อนเพลีย แก้กลาก เกลื้อน แก้เบาหวาน แก้ตาอักเสบ บำรุงสายตา แก้เหงือกบวม แก้ฟกช้ำ ถอนพิษ

- ใบ ใช้ถอนพิษแมลงสัตว์กัดต่อย นำใบสดมาตำ แล้วคั้นเอาน้ำมาดื่ม จะทำให้อาเจียน ถอนพิษยาเบื่อเมา แก้พิษของฝิ่นและสารหนู มีวิตามินเอสูง เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ

- ราก ใช้แก้ไอเรื้อรังและแก้โรคหืด ถอนพิษผิดสำแดง ใช้แก้สตรีมีตกขาวมาก เบาขัด เหงื่อออกมาก ลดอาการบวม

วิธีการปลูก

ผักบุ้งที่คนรับประทานส่วนใหญ่ คือ ผักบุ้งจีน ซึ่งปลูกง่าย เจริญเติบโตเร็ว การดูแลรักษาง่าย สามารถปลูกได้ตลอดปี และขึ้นได้ในดินทุกชนิด เริ่มจากการหว่านเมล็ด ต้นกล้าจะเริ่มงอก 2 - 3 วันหลังหยอดเมล็ด ผักบุ้งชอบดินที่มีความชื้นสูง ดั้งนั้น ควรให้น้ำบ่อย ๆ อย่าให้ขาดน้ำ เพราะผักบุ้งอาจจะชะงักการเจริญ แคระแกรน และไม่จำเป็นต้องกำจัดศัตรูพืชเพราะเป็นผักที่มีอายุสั้นและเจริญเติบโตเร็วมาก สามารถขึ้นคลุมพื้นที่ได้อย่างรวดเร็ว หลังจากหว่านเมล็ดประมาณ 25 - 30 วัน ก็สามารถเก็บเกี่ยวได้โดยใช้มือถอนทั้งราก แล้วนำมาล้างให้สะอาด หรือหากไม่ถอน สามารถใช้มือเด็ดหรือมีดตัดยอดไปบริโภคและปล่อยโคนไว้


มาดูวิธีปลูกผักสวนครัวง่าย ๆ ที่คุณเองก็ทำได้

4. พริก

สรรพคุณ

นอกเหนือจากการเป็นเครื่องปรุงให้มีรสเผ็ด - รสแซ่บแล้ว พริก ยังมีสรรพคุณในทางการแพทย์ด้วย เช่น สารสำคัญที่มีในพริก คือ แคปไซซิน สามารถฆ่าเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของการเกิดโรคกระเพาะอาหารได้ นอกจากนั้น พริกยังช่วยลดการอุดตันของเส้นเลือด ลดการเสียชีวิตอันเนื่องมาจากเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงสมองอุดตัน อีกทั้งพริกยังช่วย ลดความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็ง เนื่องจากพริกเป็นพืชผักที่มีวิตามินซีสูง นอกจากนี้ สารแคปไซซินในพริกยังช่วยเสริมสร้างอารมณ์ให้ดีขึ้นได้ เนื่องจากสารตัวนี้เป็นสารที่มีส่วนในการส่งสัญญาณให้ต่อมใต้สมองสร้างสารเอนดอร์ฟินซึ่งมีคุณสมบัติบางประการที่สำคัญคล้ายมอร์ฟีน คือ บรรเทาอาการเจ็บปวด ในขณะเดียวกันก็ช่วยให้อารมณ์ดีขึ้น

วิธีการปลูก

การปลูกพริกนั้นทำได้ง่าย ๆ เพียงแค่นำเมล็ดพริกไปหยอดในหลุมที่เตรียมไว้หลุมละ 3 - 5 เมล็ดกลบแล้วก็รดน้ำ สำหรับพริกเป็นพืชที่ทนแล้งดีกว่าทนน้ำ แต่ในระยะที่พริกเริ่มออกดอก พริกจะต้องการน้ำมากกว่าปกติ ช่วง 3 วันแรกควรให้น้ำวันละ 2 ครั้งเช้า-เย็น และค่อย ๆ ลดลงเรื่อย ๆ จนผ่านไป 7 สัปดาห์ก็ให้น้ำสัปดาห์ละ 1 ครั้ง พริกจะเริ่มให้ผลผลิตหลังจากปลูกแล้ว 2 เดือนครึ่งถึง 3 เดือน ในระยะแรกผลผลิตจะได้น้อยและจะค่อย ๆ เพิ่มมากขึ้นตามลำดับ ควรเก็บเกี่ยวอาทิตย์ละ 1 ครั้ง ทั้งนี้ผลผลิตจะเริ่มลดลงเมื่อพริกเริ่มแก่


มาดูวิธีปลูกผักสวนครัวง่าย ๆ ที่คุณเองก็ทำได้

5. สะระแหน่

สรรพคุณ

สะระแหน่ ใช้เป็นยาคลายความกดดันของกล้ามเนื้อที่เกิดจากความเหนื่อยล้าและความเครียด น้ำมันสาระแหน่ช่วยขจัดลมร้อน ใช้เป็นยาดับร้อน ถอนพิษไข้ ขับลม ขับเหงื่อ รักษาอาการหวัดลมร้อน สามารถรักษาอาการปวดศีรษะ หน้ามืดตาลาย ปวดฟัน เจ็บคอ เจ็บปาก เจ็บลิ้น โดยดื่มน้ำต้มใบสะระแหน่ 5 กรัม กับน้ำ 1 ถ้วย ผสมเกลือเล็กน้อย วันละ 2 ครั้ง นำใบสะระแหน่ต้มดื่มแต่น้ำช่วยรักษาอาการปวดท้อง ท้องอืด ท้องเฟ้อ ช่วยขับลมในกระเพาะ บิด ท้องร่วง อุจจาระเป็นเลือด หรือ แก้พิษแมลงสัตว์กัดต่อย โดยตำใบสะระแหน่ให้ละเอียด พอกบริเวณที่โดนกัด ทั้งยังช่วยห้ามเลือดกำเดาได้ โดยใช้สำลีชุบน้ำที่คั้นจากใบสะระแหน่ หยอดที่รูจมูก และสะระแหน่ยังใช้ไปทำน้ำมันหอมระเหยเพื่อใช้ในการทำสุคนธบำบัด อีกทั้งยังใช้เป็นยารักษาโรคเกี่ยวกับต่อมไทรอยด์

วิธีการปลูก

ใช้การปักชำ โดยเลือกกิ่งที่ไม่อ่อนหรือไม่แก่เกินไป ปักจิ้มลงไปในแปลงเพาะชำหรือแปลงปลูกที่มีดินร่วนซุย ปักให้กิ่งเอนทาบกับดิน รดน้ำให้ชุ่มแต่อย่าให้ถึงกับแฉะแล้วโรยแกลบทับกลบดินเพื่อรักษาความชุ่มชื้นให้หน้าดิน ประมาณ 4 - 5 วันก็จะ แตกใบ แตกยอดเลื้อยคลุมดิน ต้นสะระแหน่ชอบดินร่วนซุยที่ระบายน้ำได้ดี และต้องการแสงสว่าง แต่ไม่ต้องการแดดที่ร้อนจัดจนเกินไป จะปลูกในที่ร่มหรือในที่แดดก็ได้ ควรรดน้ำให้ชุ่มอยู่เสมอ จะทำให้สะระแหน่เจริญเติบโตเร็วขึ้น

มาดูวิธีปลูกผักสวนครัวง่าย ๆ ที่คุณเองก็ทำได้

6. ตะไคร้

สรรพคุณ

ทั้งต้นตะไคร้ ใช้เป็นยารักษาโรคหืด แก้ปวดท้อง ขับปัสสาวะและแก้อหิวาตกโรค หรือทำเป็นยาทานวดก็ได้ และยังใช้รวมกับสมุนไพรชนิดอื่นรักษาโรคได้ เช่น บำรุงธาตุ เจริญอาหาร และขับเหงื่อ ส่วนหัวตะไคร้ ใช้เป็นยารักษาเกลื้อน แก้ท้องอืดท้องเฟ้อ แก้โรคทางเดินปัสสาวะ แก้นิ่ว บำรุงไฟธาตุ แก้อาการขัดเบา ถ้าใช้รวมกับสมุนไพรชนิดอื่น จะเป็นยาแก้อาเจียน แก้ซาง ลดความดันสูง แก้ลมอัมพาต แก้กษัยเส้น และแก้ลมใบ แก้โรคหนองใน และนอกจากนี้ยังใช้ดับกลิ่นคาวด้วย ใบสด ๆ จะช่วยลดความดันโลหิตสูง แก้ไข้ ส่วนราก ใช้เป็นยาแก้ไข้เหนือ ปวดท้องและท้องเสีย

วิธีการปลูก

ตะไคร้เป็นพืชที่มีอายุหลายปี ปลูกง่ายเจริญได้ดีในดินแทบทุกชนิด เริ่มจากการเตรียมดิน โดยใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักคลุกเคล้าให้เข้ากับดินขุดหลุมปลูก นำพันธุ์ตะไคร้ที่เตรียมไว้ตัดใบออก ให้เหลือต้นยาว ประมาณ 30 - 40 เซนติเมตร มาแช่น้ำประมาณ 5 - 7 วัน เพื่อให้รากงอก รากที่แก่เต็มที่จะมีสีเหลืองเข้ม นำไปปลูกในแปลง วางต้นพันธุ์ให้เอียง 45 องศาไปด้านใดด้านหนึ่งแล้วกลบดิน จากนั้นรดน้ำให้ชุ่ม หลังปลูกได้ประมาณ30 วัน ก็ควรใส่ปุ๋ยสูตร 15 - 15 - 15 หรือ 46 - 0 - 0 อัตรา 50 กิโลกรัม/ไร่ ควรให้น้ำพอหน้าดินชื้น ประมาณ 1 - 2 วันจึงรดน้ำครั้งหนึ่ง เก็บเกี่ยวเมื่อตะไคร้อายุประมาณ 90 วัน


มาดูวิธีปลูกผักสวนครัวง่าย ๆ ที่คุณเองก็ทำได้

7. มะกรูด

สรรพคุณ

ใช้ผลสด นำมาประกอบอาหาร หรือนำมาดองใช้เป็นยาฟอกเลือดในสตรี ขับลมในลำไส้ ขับระดู แก้ลมจุกเสียด แก้โรคลักปิดลักเปิด และใช้บำรุงประจำเดือน หรือใช้ผลสด นำมาผิงไฟให้เกรียมแล้ว ละลายให้เข้ากับน้ำผึ้ง ใช้ทาลิ้นให้เด็กที่เกิดใหม่ นอกจากนี้ ใช้เป็นยาบำรุงหัวใจ แก้แน่น แก้เสมหะ โดยฝานผิวมะกรูดสดเป็นชิ้นเล็ก ๆ 1 ช้อนแกง เติมการบูร หรือ พิมเสน 1 หยิบมือ ชงด้วยน้ำเดือด แช่ทิ้งไว้ ดื่มแต่น้ำรับประทาน 1 - 2 ครั้ง หรือนำมาใช้สระผมทำให้ผมสะอาดชุ่มชื้น เป็นเงางาม ดกดำ ผมลื่นด้วย หรือใช้มะกรูดเผาไฟ นำมาผ่าซีกใช้สระผม จะรักษาชันนะตุ ส่วนน้ำมะกรูดใช้ถูฟัน แก้เลือดออกตามไรฟันได้ด้วยนะ

วิธีการปลูก

มะกรูดปลูกได้ดีในดินทุกชนิด ควรปลูกด้วยกิ่งตอน ก่อนจะปลูกควรนำปุ๋ยคอกมาใส่ผสมกับดิน เพื่อให้ดินมีอาหารอุดมสมบูรณ์ดี ในระยะที่ปลูกมะกรูดใหม่ ๆ ต้องหมั่นรดน้ำให้ความชุ่มชื้นแก่พืช จะทำให้พืชตั้งตัวได้เร็ว แตกใบอ่อนกิ่งอ่อนดี ควรใส่ปุ๋ยเพิ่มธาตุอาหารให้พืชเป็นครั้งคราว ซึ่งอาจเป็นปุ๋ยอินทรีย์หรือปุ๋ยวิทยาศาสตร์ และปุ๋ยชีวภาพก็ได้ หรือปลูกมะกรูดด้วยเมล็ด ให้นำเมล็ดไปแช่น้ำประมาณ 6 ชั่วโมง เพื่อเพิ่มความชื้นภายในเมล็ดทำให้เมล็ดงอกได้ง่าย นำเมล็ดไปปลูกลงในถุงเพาะชำแกลบดำประมาณ 3 - 4 เมล็ดต่อถุง ทำการรดน้ำทันที เพราะในแกลบดำจะมีความโปร่งมาก ไม่อมน้ำ ประมาณ 20 - 25 วันเมล็ดมะกรูดก็จะงอกออกมา หลังจากนั้นประมาณ 1 - 2 เดือนก็สามารถนำไปปลูกลงดินได้

มาดูวิธีปลูกผักสวนครัวง่าย ๆ ที่คุณเองก็ทำได้

8. ข่า

สรรพคุณ

ใช้เหง้าข่าแก่สด ตำให้ละเอียด เติมน้ำปูนใส ใช้น้ำยาดื่ม ครั้งละครึ่งถ้วยแก้ว วันละ 3 เวลา หลังอาหาร รักษาท้องขึ้น ท้องอืด ท้องเฟ้อ ขับลม แก้ท้องเดิน (ที่เรียกโรคป่วง) แก้บิด อาเจียน ปวดท้อง หรือ ใช้เหง้าข่าแก่ๆ ที่สด 1 แง่ง ตำให้ละเอียด เติมเหล้าโรงพอให้แฉะ ๆ ใช้ทั้งเนื้อและน้ำ รักษาลมพิษ โดยทาบริเวณที่เป็นลมพิษบ่อย ๆ จนกว่าจะดีขึ้น นอกจากนี้ยังใช้รักษากลากเกลื้อน โรคผิวหนัง โดยใช้เหง้าข่าแก่ เท่าหัวแม่มือ ตำให้ละเอียดผสมเหล้าโรง ทาที่เป็นโรคผิวหนัง หลาย ๆ ครั้งจนกว่าจะหาย

วิธีการปลูก

ข่าเป็นพืชกินหัวหรือเหง้าส่วนที่อยู่ใต้ดิน เราใช้หัวหรือแง่งแก่จัดของข่าเดิม ซึ่งที่หัวแม่นี้จะมีข้อและที่ข้อจะมีตา และที่ตานี่เองจะงอกเป็นหน่อโผล่พ้นดินขึ้นมา จากนั้นก็จะแตกหัวแขนงออกมาอีก จากหลาย ๆ หน่อที่ปลูกก็จะแตกออกกลายเป็นกอใหญ่ที่มีหัวหรือเหง้าจำนวนมาก ธรรมชาติของพืชหัวหรือเหง้า จะเจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนปนทราย ต้องการความชื้นสม่ำเสมอและต้องการแสงแดด 100% สำหรับในช่วงอากาศหนาวเย็นการเจริญเติบโตจะช้าลง หลังจากปลูกไปแล้วประมาณ 15 - 20 วัน รากจะเริ่มเดิน ในช่วงนี้ควรให้น้ำ 2 - 3 วัน/ครั้ง และให้น้ำผสมปุ๋ยน้ำทำเอง 7 - 10 วันครั้ง การขุดขึ้นมาแต่ละครั้ง ไม่ควรขึ้นขึ้นมาหมดทั้งกอ ให้เหลือไว้ 3 - 4 แง่ง เพื่อเป็นต้นพันธุ์

มาดูวิธีปลูกผักสวนครัวง่าย ๆ ที่คุณเองก็ทำได้

9. กระเฉด

สรรพคุณ

ช่วยในการดับพิษร้อน พร้อมกับสามารถถอนพิษไข้และพิษเบื่อเมาได้ และในผักกระเฉดนั้น ยังมีประโยชน์และมีวิตามิน ไม่ว่าจะเป็นวิตามินเอ แคลเซียม รวมถึงธาตุเหล็กด้วย

นอกจากนี้ ผักกระเฉดนั้นยังเป็นพืชผักที่มีแร่ธาตุ พร้อมทั้งวิตามินที่สูงและที่สำคัญก็คือ มีแคลเซียมพร้อมทั้ง มี ฟอสฟอรัส ที่ยังเป็นแร่ธาตุเหล็กมีปริมาณที่สูงมาก ทั้งยังมีวิตามินซี ไนอะซิน คือวิตามินบีชนิดหนึ่ง ฉะนั้นแล้วจึงมีประโยชน์สำหรับกระบวนการ การเผาผลาญของสารอาหารที่สร้างพลังงานในร่างกายของคนเราเป็นอย่างดีด้วย

วิธีการปลูก

การเตรียมพื้นที่ที่จะปลูกผักกระเฉด เริ่มจากการหาพื้นที่ที่มีคันดินกั้นน้ำได้ สูงประมาณ 1 เมตร อาจทำการปลูกแบบลอยแพหรือดำกอในสระได้ ต่อมาเตรียมพันธุ์ผักที่อวบใหญ่ มีปล้องยาว และไม่มีโรค ใบเหลือง ใบหยิก เพื่อทำการปลูก สำหรับวิธีการบำรุง คือ นำน้ำที่ได้จากการหมักจากผัก ผลไม้เหลือทิ้ง + น้ำตาล + หัวเชื้อ ลงไปพร้อมกับน้ำที่เติมลงในสระ ส่วนวิธีการกำจัดศัตรูพืช คือ ให้ใช้ผงสะเดา ผสมในอัตราส่วน 30 - 40 ซีซี ต่อน้ำ 20 ลิตร ทำการพ่นทุก ๆ วัน หรือหากพบปัญหาโรคโคนเน่า แก้ไขด้วยการปรับสภาพน้ำให้เป็นกลางด้วยซิลิเกตและพ่นยากำจัดเชื้อรา เริ่มต้นจากการปลูกรอประมาณ 3 เดือน ก็สามารถตัดยอดอ่อนแรกได้แล้วค่ะ


มาดูวิธีปลูกผักสวนครัวง่าย ๆ ที่คุณเองก็ทำได้

10. ผักหวาน

สรรพคุณ

- ราก แก้ไข้ ระงัดความร้อน ถอนพิษไข้ แก้ไข้กลับ เนื่องจากกินของแสลง รักษาโรคอีสา แก้โรคมะเร็งคุด รักษาโรคคางทูม

- ใบ รับประทานแก้ปวดเมื่อยร่างกาย เป็นยาบำรุงสุขภาพหลังคลอดบุตร

- ใบและราก ใช้ตำพอกแผล ฝี

- ยอด โรคโลหิตจาง ผิวหนังแห้ง ไข้ร้อนใน ตามัว

วิธีการปลูก

นำกิ่งพันธุ์ผักหวานที่ได้ทำการขยายพันธุ์โดยการปักชำ นำมาปลูกในแปลงยกร่อง แล้วคลุมด้วยฟาง เพื่อรักษาความชื้นและป้องกันวัชพืชขึ้น ระยะแรกควรให้น้ำวันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น หลังจากผักหวานมีอายุได้ 2 – 3 เดือน ก็ให้น้ำวันละ 1 ครั้ง เมื่อผักหวานอายุ 1 เดือน ควรกำจัดวัชพืช พร้อมใส่ปุ๋ยอินทรีย์ หรือปุ๋ยชีวภาพอัดเม็ด อัตราต้นละ 1 กำมือ หรือประมาณ 50 กิโลกรัม/ไร่ ผักหวานจะเริ่มเก็บเกี่ยวได้เมื่ออายุ 2 – 3เดือน โดยเว้นระยะห่าง 7 วัน เก็บได้ 1 ครั้ง หลักจากเก็บเกี่ยวยอดผักหวานได้ 4 - 5 ครั้ง ให้ตัดแต่งกิ่งต้นผักหวาน โดยให้ผักหวานเหลือความสูง 50 - 60 เซนติเมตร แล้วใส่ปุ๋ยอินทรีย์ หรือปุ๋ยชีวภาพอัดเม็ด